ติดตั้งหลังคาโซลาร์เซลล์ SCG คุ้มไหม…ไฟก็ฟรี ขายคืนภาครัฐก็ได้ ?

ทำความรู้จักหลังคาโซลาร์เซลล์ระบบต่างๆ และแนวคิดในการพิจารณาติดตั้งหลังคาโซลาร์เซลล์เพื่อการใช้งานที่เหมาะสม คุ้มค่า

จะดีแค่ไหน ถ้าแดดอันแสนร้อนแรงจะถูกแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า ในเมื่อบ้านเราเป็นเมืองร้อนแดดแรงไม่ปราณีใคร ก็น่าจะได้ไฟใช้ฟรีกันง่ายๆ แถมถ้าเหลือยังขายไฟคืนภาครัฐได้เงินใช้อีก มองแบบนี้มีแต่คุ้มกับคุ้มติดต่อ SCGHOME.COM มาสำรวจหน้างานเพื่อเตรียมติดตั้งระบบหลังคาโซลาร์ SCG กันเลยดีหรือไม่ ? วันนี้เราจะมาไขข้อสงสัยให้กระจ่างกัน

ทำความรู้จักระบบหลังคาโซลาร์เซลล์กันก่อน โดยทั่วไปการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน จะมีอยู่ 3 ระบบ ดังนี้

  1. โซลาร์เซลล์ระบบ Off-Grid พลังงานไฟฟ้าที่ได้จากแสงอาทิตย์จะส่งไปยังเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยไม่มีการเชื่อมต่อกับการไฟฟ้า หากปราศจากแสงอาทิตย์ก็จะไม่มีไฟฟ้าใช้ (เว้นแต่จะมีแบตเตอรีไว้สำรองไฟ) เหมาะกับบ้านในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งระบบของการไฟฟ้าเชื่อมต่อไม่ถึง
  2. โซลาร์เซลล์ระบบ On-Grid เหมาะกับบ้านทั่วไปที่มีการเชื่อมต่อกับระบบของการไฟฟ้าอยู่แล้ว โดยในเวลากลางวัน เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านจะนำไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์มาใช้ แต่เมื่อถึงเวลาที่แสงอาทิตย์โดนบดบัง หรือในเวลากลางคืน ระบบจะนำเอาไฟฟ้าจากการไฟฟ้ามาใช้แทน
  3. โซลาร์เซลล์ระบบ Hybrid มีการเชื่อมต่อกับระบบของการไฟฟ้า เช่นเดียวกับระบบ On Grid เพียงแต่จะมีแบตเตอรีเป็นอุปกรณ์เสริม กรณีไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโซลาร์เซลล์มีเกินกว่าความต้องการใช้งาน ส่วนที่เหลือจะถูกนำไปเก็บไว้ในแบตเตอรีเพื่อสำรองไว้ใช้ในเวลาที่ไม่มีแสงอาทิตย์ เหมาะกับบ้านที่มีปัญหาไฟดับบ่อย เช่น หัวเมืองที่ขยายตัวรวดเร็วจนการไฟฟ้าจ่ายไฟได้ไม่สม่ำเสมอ แบตเตอรีสำรองจะช่วยจ่ายไฟฟ้าไปยังอุปกรณ์จำเป็นเพื่อให้สามารถใช้งานได้แม้ขณะไฟดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเวลากลางคืน

ภาพ: เปรียบเทียบหลักการทำงานของระบบหลังคาโซลาร์เซลล์ ทั้ง 3 ระบบ

แล้วบ้านเราติดหลังคาโซลาร์เซลล์ แบบไหนถึงจะคุ้ม หากเป็นบ้านทั่วไปที่ใช้ไฟจากการไฟฟ้าได้ตามปกติอยู่แล้ว จะเหมาะกับหลังคาโซลาร์เซลล์ระบบ On Grid แต่ข้อสำคัญคือ ควรจะมีการใช้ไฟในช่วงกลางวันในปริมาณมาก (มีการเปิดแอร์อย่างน้อย 1 ตัว) และค่าไฟเดือนละไม่ต่ำกว่า 3,000 บ. จึงจะคุ้มค่ากับการลงทุนติดตั้งระบบ ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้เวลาคืนทุน ประมาณ 7-10 ปี ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า (ดูรายละเอียดและดาวน์โหลดตารางแพ็กเกจ “หลังคาโซลาร์เซลล์ SCG” คลิก) ส่วนใครที่มองว่า ติดตั้งหลังคาโซลาร์เซลล์ทั้งที เลือกระบบ Hybrid น่าจะคุ้มกว่า จะได้สำรองไฟไว้ในแบตเตอรีเผื่อใช้งานตอนกลางคืนด้วย ช่วยประหยัดค่าไฟได้เพิ่มขึ้นอีก ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าแบตเตอรีในปัจจุบัน (พ.ศ. 2565) ยังคงมีราคาสูง พอมาเทียบกันแล้ว การใช้ไฟจากการไฟฟ้าภาครัฐในเวลากลางคืนดูจะคุ้มค่ากว่า เพราะแบตเตอรียิ่งใช้งานมากยิ่งเสื่อมเร็ว ค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนอาจไม่คุ้ม ดังนั้น การใช้ไฟฟ้าจากแบตเตอรีของระบบ Hybrid จะเหมาะกับการสำรองไฟไว้ใช้ในยามฉุกเฉินสำหรับบ้านที่ปัญหาไฟดับบ่อยๆ ดังที่เล่าไปในตอนต้น

ภาพ: ตัวอย่างแบตเตอรีสำรองไฟ ของหลังคาโซลาร์เซลล์ระบบ Hybrid

ขายไฟคืนภาครัฐได้ ช่วยเพิ่มความคุ้มค่าอีกทางจริงหรือไม่  หากโซลาร์เซลล์ผลิตไฟเกินปริมาณที่เราใช้ในเวลาก็สามารถขายคืนภาครัฐได้ โดยเงื่อนไขการรับซื้อคืนในแต่ละปี จะเป็นไปตามประกาศจากการไฟฟ้าภาครัฐ ซึ่งต้องตรวจสอบเป็นระยะ แต่โดยทั่วไปแล้ว ราคาต่อหน่วยที่การไฟฟ้าภาครัฐรับซื้อคืน จะต่ำกว่าราคาค่าไฟจากการไฟฟ้าที่เราจ่ายกันตามปกติ และสำหรับปี พ.ศ. 2565 การไฟฟ้าจะรับซื้อคืนเฉพาะโซลาร์เซลล์ระบบ On Grid เท่านั้น ทั้งนี้ การขายไฟฟ้าคืนภาครัฐเป็นเพียง “ผลพลอยได้” แต่ไม่ใช่ปัจจัยที่จะนำมาพิจารณาความคุ้มค่าในการติดตั้งหลังคาโซลาร์เซลล์ เพราะโดยหลักแล้วการติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้คุ้มค่าที่สุด ก็คือ การนำแสงอาทิตย์ ณ ช่วงเวลานั้นๆ มาแปลงเป็นพลังงานใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าทันทีเพื่อทดแทนการใช้ไฟจากการไฟฟ้าภาครัฐในตอนกลางวันให้ได้มากที่สุด ดังนั้น บ้านที่ติดตั้งหลังคาควรมีการใช้ไฟฟ้าในเวลากลางวันเป็นปริมาณมาก เช่น เปิดแอร์เป็นเวลานาน ส่วนในเวลาที่ไม่มีแสงอาทิตย์ โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน แนะนำให้ใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าภาครัฐตามตามปกติ (กรณีมีแบตเตอรี ควรใช้เพื่อสำรองเวลาไฟดับเท่านั้น)

ภาพ: ตัวอย่างการติดตั้งระบบหลังคาโซลาร์ เอสซีจี (SCG Solar Roof)